เป็นภาวะที่ผนังหลอดเลือดบางส่วนมีความอ่อนแอ ถูกแรงดันเลือดดันให้โป่งออกคล้ายลูกโป่ง พบมากในกลุ่มอายุ 50-80 ปี และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 2-3 เท่า
ผนังหลอดเลือดส่วนที่โป่งพอง ส่วนใหญ่มักเกิดในส่วนที่อยู่ในช่องท้องในระดับที่ต่ำกว่าจุดแยกของหลอดเลือดแดงไต (renal artery) เรียกว่า "หลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนท้องโป่งพอง (abdominal aortic aneurysm)" ส่วนน้อยเกิดในส่วนที่อยู่ในช่องอกใกล้หัวใจ เรียกว่า "หลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนอกโป่งพอง (thoracic aortic aneurysm)"
สาเหตุ
ส่วนใหญ่เนื่องจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) ส่วนน้อยอาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บ การอักเสบ (aortitis) ซิฟิลิส หรือกลุ่มอาการมาร์แฟน (Marfan syndrome ซึ่งเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ทำให้เนื้อเยื่อมีความอ่อนแอ) ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือมีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีประวัติสูบบุหรี่
อาการ
ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดง มักตรวจพบโดยบังเอิญขณะแพทย์ทำการตรวจร่างกายด้วยสาเหตุอื่น ๆ
สำหรับผู้ที่เป็นหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนท้องโป่งพอง บางรายอาจรู้สึกมีอะไรเต้นอยู่ในท้อง (บริเวณใต้สะดือ) หรือมีอาการปวดลึก ๆ ที่หลัง
สำหรับผู้ที่เป็นหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนอกโป่งพอง อาจรู้สึกมีอาการเต้นในทรวงอกหรือปวดหลังด้านบน หากมีขนาดโตอาจเบียดกดอวัยวะข้างเคียง ทำให้มีอาการไอ หรือมีเสียงวี้ด (กดถูกหลอดลม) ไอเป็นเลือด (หลอดลมกร่อน) กลืนลำบาก (กดถูกหลอดอาหาร) หรือเสียงแหบ (กดถูกประสาทที่เลี้ยงกล่องเสียง)
ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าหลอดเลือดที่โป่งพองมีขนาดมากกว่า 5 ซม. อาจทำให้ผนังหลอดเลือดแตก มีเลือดตกในจนเกิดภาวะช็อกถึงขั้นเสียชีวิตได้ อาการแรกเริ่มถ้าเกิดในช่องท้องจะมีอาการปวดรุนแรงที่ท้องน้อยและหลัง และมีอาการกดเจ็บ ถ้าเกิดในช่องอกจะมีอาการปวดรุนแรงที่หลังด้านบนและแผ่ลงด้านล่าง อาจมีอาการเจ็บหน้าอกและแขนคล้ายโรคหัวใจขาดเลือด ต่อมาจะมีภาวะช็อก คือ เหงื่อออก ตัวเย็น ซีด ชีพจรเต้นเร็ว ความดันต่ำ
นอกจากนี้ ยังอาจเกิดภาวะลิ่มเลือด (thrombosis) เกาะที่ผนังหลอดเลือดที่โป่งพอง และหลุดลอยไปอุดกั้นหลอดเลือดอื่น ๆ ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ขาดเลือดได้
ผู้ป่วยโรคนี้ยังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ตามมาได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการและการตรวจพบมีก้อนเต้น (ตามจังหวะชีพจร) อยู่ในท้องบริเวณใต้สะดือ หรือใช้เครื่องฟังได้ยินเสียงฟู่ (bruit) ตรงบริเวณกึ่งกลางท้อง (ใกล้สะดือ)
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการเอกซเรย์ ตรวจอัลตราซาวนด์ หรือถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ถ้าพบว่าหลอดเลือดที่โป่งพองมีขนาดกว้างน้อยกว่า 5 ซม. มักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อน ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แพทย์จะให้ยาลดความดัน (ถ้าพบว่ามีความดันโลหิตสูง) และคอยติดตามตรวจดูการขยายตัวของหลอดเลือดที่โป่งพองทุก 3-6 เดือน
2. ถ้าพบว่าหลอดเลือดที่โป่งพองมีขนาดมากกว่า 5 ซม. ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแตก แพทย์จะพิจารณาทำการผ่าตัดแก้ไข หลังผ่าตัดผู้ป่วยร้อยละ 60-80 สามารถมีชีวิตอยู่รอดเกิน 5 ปีขึ้นไป แต่ร้อยละ 5-10 อาจมีการโป่งพองของหลอดเลือดขึ้นมาใหม่ในบริเวณใกล้เคียงได้อีก
3. ในรายที่เกิดการแตกของผนังหลอดเลือด แพทย์จะต้องทำการผ่าตัดโดยเร่งด่วน ซึ่งมีอัตราตายค่อนข้างสูง
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น รู้สึกมีอะไรเต้นอยู่ในท้อง (บริเวณใต้สะดือ) หรือมีอาการปวดลึก ๆ ที่หลัง หรือรู้สึกมีอาการเต้นในทรวงอกหรือปวดหลังด้านบน หรือ มีอาการไอ ไอเป็นเลือด หายใจมีเสียงดังวี้ด กลืนลำบาก หรือ เสียงแหบเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การป้องกัน
อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ โดยการป้องกันการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
2. ออกกำลังกายเป็นประจำ
3. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
4. ถ้าเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือภาวะไขมันในเลือดสูง ควรควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ข้อแนะนำ
1. โรคนี้พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีประวัติสูบบุหรี่ คนกลุ่มนี้ควรให้แพทย์ตรวจเช็กว่ามีหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองหรือไม่
2. ผู้ที่ตรวจพบว่าเป็นหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ควรติดตามรักษากับแพทย์ และถ้าอยู่ ๆ เกิดมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง ปวดท้องรุนแรง หรือปวดหลังรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยด่วน เพราะอาจเป็นอาการผนังหลอดเลือดแดงใหญ่แตกได้
doctor at home: หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง (Aortic aneurysm) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com