กระชายสกัด:สรรพคุณน่ารู้ "กระชาย" พืชสมุนไพรพื้นบ้านสารพัดประโยชน์ มีดีกว่าที่คิดการเก็บรวบรวมข้อมูลนี้นำไปใช้เพื่อ กิจกรรมทางการตลาดโดยยึดหลัก ปฏิบัติตามนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
"กระชาย" พืชสมุนไพรไทยที่ได้รับฉายาว่า "โสมไทย" มีประโยชน์และสรรพคุณทางยาที่คนไทยสมัยโบราณนำมาใช้เป็นยารักษาโรคและปรุงอาหารในครัวเรือน อีกทั้งยังนำไปสกัดเป็นเครื่องดื่มบำรุงร่างกายได้อีกด้วย ไทยรัฐออนไลน์จะพาไปทำความรู้จักคุณประโยชน์ดีๆ ของกระชายไทยที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน
รู้จัก "กระชาย" พืชสมุนไพรไทยสารพัดประโยชน์
กระชาย (ภาษาอังกฤษ : Fingerroot) คือ พืชไม้ล้มลุกที่มีถิ่นกำเนิดแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลำต้นใต้ดินเป็นกระจุกหรือที่เรียกกันว่า "เหง้า" มีลักษณะสีเหลืองอ่อน มีจำแนกหลายชนิด เช่น กระชายขาว กระชายดำ กระชายเหลือง เป็นต้น โดยเฉพาะ "กระชายขาว" ถือเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่สามารถนำหลายส่วนมีใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นเหง้า ใบ และราก ตั้งแต่สมัยโบราณคนไทยนิยมนำมาต้มดื่มเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย เพิ่มความกระปรี้กระเปร่าให้ร่างกาย ตลอดจนส่วนประกอบอื่นๆ เช่น รากและใบ ก็จะนำไปปรุงอาหารประเภทแกง เพราะช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ได้ดี
ประโยชน์ของกระชายขาว มีสรรพคุณอะไรบ้าง?
กระชายขาวเป็นพืชสมุนไพรที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายส่วน เนื่องจากมีรสขมและเผ็ดร้อน จึงมีสรรพคุณในเรื่องการขับลม บำรุงร่างกาย ถอนพิษ และรักษาอาการจุกเสีย ยกตัวอย่างดังนี้
รากของกระชาย : แก้ร้อนใน บำรุงธาตุ เพิ่มความกระชุ่มกระชวยให้ร่างกาย และถอนพิษต่างๆ
เหง้าของกระชาย : รักษาอาการจุกเสียด แน่นท้อง ท้องเฟ้อ แก้ท้องร่วง และช่วยขับปัสสาวะ
น้ำกระชาย : มีสรรพคุณในการขับลม และปรุงเป็นน้ำมันหอมระเหย
ปรับฮอร์โมนในร่างกาย รักษาธาตุในร่างกายให้สมดุล
บรรเทาอาการไซนัสอักเสบ จมูกไม่ได้กลิ่น
ช่วยย่อยอาหาร แก้ท้องอืด
ลดการบีบตัวและอักเสบของลำไส้
ลดอาการวิงเวียนศีรษะ
กระชายขาว ช่วยต้านโควิด-19 จริงหรือไม่?
เมื่อปี พ.ศ.2563 เคยมีกระแสฮือฮาเรื่องกระชายขาวสามารถต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ โดยทางด้าน ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยผลการวิจัยที่ระบุว่าในกระชายขาวมีสารสำคัญที่ช่วยลดจำนวนเซลล์ และยับยั้งเซลล์ที่ติดเชื้อได้ ทำให้ในช่วงนั้นหลายคนนิยมนำกระชายขาวมีต้มเพื่อปรุงเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรสำหรับบำรุงร่างกาย
ในปัจจุบันหากใครต้องการซื้อผลิตภัณฑ์กระชายขาวสกัด แนะนำว่าควรเลือกซื้อเฉพาะที่มี อย. รับรอง อีกทั้งควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้หากบริโภคผิดวิธี หรือบริโภคในปริมาณที่เกินความต้องการของร่างกาย
กระชายดํา อันตรายจริงหรือ?
นอกจากกระชายขาวที่ได้รับความนิยมในฐานะสมุนไพรพื้นบ้านแล้ว "กระชายดํา" ก็เป็นกระชายอีกชนิดที่ค่อนข้างได้รับความสนใจ เนื่องจากมีสรรพคุณในการบำรุงกำลัง แก้อาการเมื่อยล้า แม้กระชายดำจะมีประโยชน์ทางยา แต่ก็มีฤทธิ์ร้อน ไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคตับและเด็กๆ เพราะอาจส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารได้
อันตรายของกระชายดำมักจะปรากฏในผู้ที่บริโภคในปริมาณที่มากเกินไป หรือผู้ที่แพ้กระชายดำ อาจมีอาการไม่พึงประสงค์ เช่น เวียนหัว คลื่นไส้ ท้องเสีย มีผื่นคัน ฯลฯ หากพบอาการเหล่านี้ ควรงดบริโภคทันทีรวมถึงหยุดใช้สารสกัดทุกอย่างที่ทำมาจากกระชายดำ และควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที
อย่างไรก็ตาม หากต้องการดื่มน้ำสมุนไพร "กระชาย" ที่สกัดจากธรรมชาติเพื่อใช้เป็นเครื่องดื่มบำรุงร่างกาย อาจไม่ได้มีข้อกังวลมากนักถ้าบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม แต่ไม่ควรใช้กระชายเป็นยาในการรักษาโรคต่างๆ ด้วยตัวเอง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เด็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องก่อนเสมอ